Hot Topic!

คอร์รัปชันไทย 'กระเตื้อง' จี้รัฐคุมเข้มจัดซื้อจัดจ้าง

โดย ACT โพสเมื่อ Feb 23,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

คอร์รัปชันโลก ปี 60 คะแนน "ไทย" ดีขึ้น แตะอันดับ 96 เทียบปีก่อนอันดับที่ 101 "บัณฑิต" ชี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่มีเรื่องต้องทำอีกมาก จี้ทุกฝ่ายร่วมมือ แก้ปัญหาทุจริต "อุตตม"เชื่ออันดับดีขึ้น ดึงการลงทุนต่างชาติ ขณะ"นิด้า"จี้รัฐ เข้มบังคับใช้กฎหมายจัดซื้อ จัดจ้าง กับบริษัทใหญ่   ด้านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันไทย ชี้คะแนนโดยรวมยังสอบตก

 

องค์กรเพื่อความโปร่งใส นานาชาติ เปิดเผยดัชนีภาพลักษณ์ คอร์รัปชัน (ซีพีไอ)  ประจำปี 2560 แสดงให้ เห็นว่า ไทยได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 96 จาก ปี 2559 ที่อยู่ในอันดับ 101 ด้วยคะแนนทั้งหมด  37 คะแนน

 

ส่วนประเทศที่ครองอันดับ 1 มีความโปร่งใสมากสุด คือนิวซีแลนด์ด้วย คะแนน 89 คะแนน ขณะที่เดนมาร์ก ซึ่งเมื่อปี 2559 ครองอันดับ 1 ร่วมกับนิวซีแลนด์ ได้ 88 คะแนน ตกไปอยู่ในอันดับ2 ตามมาด้วยฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้ 85 คะแนนเท่ากัน

 

สำหรับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนั้น สิงคโปร์ ติดอยู่ในอันดับ 6 สูงสุดในภูมิภาค ขณะที่อินโดนีเซีย อยู่อันดับที่ 96 เท่ากับไทยมี 37 คะแนน เวียดนามได้ อันดับ 107 มี 35 คะแนน ส่วนฟิลิปปินส์ อันดับ 111 มี 34 คะแนน เมียนมา อันดับ 130 มี 30 คะแนน ลาว อันดับ 135 มี 29 คะแนนและกัมพูชา อันดับที่ 161 มีเพียง 21 คะแนน

 

นางเดอเลีย เฟอร์ไรรา รูบิโอ ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ระบุว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังดำเนินการได้ไม่เพียงพอในการปราบปรามการการทุจริตคอร์รัปชันหลายประเทศไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา การทุจริตเกิดมากขึ้น เพราะเสรีภาพของพลเมืองถูกเพิกเฉย รวมไปถึงนิติรัฐ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

 

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความโปร่งใสกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา บางประเทศพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปราบปรามการคอร์รัปชัน เช่น เซเนกัล ไอวอรี่โคสต์ และอังกฤษ

 

ทั้งนี้ ในการจัดอันดับดัชนี ภาพลักษณ์คอร์รัปชันนั้น ทางองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติให้คะแนนประเทศต่างๆ ตั้งแต่ 1ถึง 100 คะแนนโดยอาศัยข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศ 12 องค์กร เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา และการประชุมเศรษฐกิจโลก

 

"บัณฑิต"จี้ทุกฝ่ายร่วมมือแก้ทุจริต

 

นายบัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) กล่าวว่า การที่คะแนนและอันดับ CPI ของไทยขยับสูงขึ้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ยังต้องทำต่ออีกมาก เพราะปัญหาคอร์รัปชันในไทยมีมาก ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ควรต้องพยายามให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าทำได้ก็จะผลักดันให้คะแนนของเราสูงขึ้นเรื่อยๆต่อไป

 

"ภาคธุรกิจเอกชนก็มีบทบาทสำคัญ ที่ต้องดำเนินธุรกิจภายใต้หลักของ การกำกับดูแลกิจการที่ดี และต้องช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา โดยบริษัทแต่ละแห่งควรมีการกำหนดนโยบาย และระบบควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่รับ ไม่จ่ายสินบน อันนี้สำคัญมาก

 

ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องปรับปรุงระบบงานบริการเพื่อลด ขั้นตอน และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นช่องที่เอื้อให้เกิดการเรียกรับ หรือ เสนอจ่ายสินบน รวมถึง เอื้อให้เกิดการทุจริตทางนโยบาย ต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จริงจัง ส่วนภาคประชาสังคมก็ต้องช่วยกันปรับทัศนคติของคนในสังคมให้ไม่ยอมรับการโกง และพร้อมที่จะแจ้งเบาะแสแก่หน่วยงานตรวจสอบเมื่อพบเห็นการกระทำที่ส่อว่า จะมีการทุจริต ผมคิดว่าปัญหาของเรามีมากขนาดนี้แล้ว ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา"

 

"อุตตม"เชื่อดึงดูดการลงทุนไทย

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ดัชนี CPI ของไทยมีอันดับดีขึ้น  เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการดึงดูดการลงทุนของไทย เพราะจะทำให้ ภาพพจน์ของไทยมีความโปร่งใส ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลด้าน ความโปร่งใสในการลงทุนลงได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม จะพยายามปรับปรุงระบบการทำงาน และเพิ่มความเข้มงวดป้องกันการทุจริตรวมทั้งเร่งรัดกระบวนการออกใบอนุญาตต่างๆ ให้รวดเร็ว และโปร่งใส

 

แนะเข้มใช้กม.จัดซื้อจัดจ้าง

 

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ดัชนี CPI ของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นว่า คะแนนและอันดับที่ดีขึ้นมาจากความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีกลไกแก้ปัญหา โดยเฉพาะพ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่มาบังคับใช้ และการจัดตั้งศาลทุจริตเพื่อพิจารณาคดีความที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตซึ่งอาจซับซ้อนมากขึ้นและต้องการผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางขึ้นมาพิจารณาคดีความ

 

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมาย จัดซื้อจัดจ้าง เห็นว่าต้องดำเนินการอย่าง เข้มงวดกับโครงการจัดซื้อจัดจ้าง หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการต่อต้านการทุจริตตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย "หากกฎหมายบังคับใช้เฉพาะกับปลาซิวปลาสร้อย อาจจะทำให้การเอาผู้ที่กระทำความผิดมารับผิดทาง กฏหมายไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง"

 

การต่อสู้ทุจริตก้าวหน้า

 

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) กล่าวถึงคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2560 ที่ไทยได้รับการ ประเมินไว้ที่ 37 คะแนน อยู่ในอันดับ 96 จากทั้งหมด 180 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว(2559)ที่ได้ 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101 ว่า ค่าซีพีไอที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใดสะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้กับการทุจริต คอร์รัปชันมีความก้าวหน้า เนื่องจากการสำรวจในครั้งนี้มีทั้งหมด 180 ประเทศ มีเพียง 20 % ที่มีทิศทางดีขึ้น ส่วนใหญ่หรือ 60% แย่ลงและอีกประมาณ 20% ไม่มีการพัฒนาเลย

 

จากผลสำรวจที่ชี้ว่า ค่าเฉลี่ยของดัชนีซีพีไออยู่ที่ระดับ 43 คะแนน เมื่อเทียบกับ 37 คะแนนของประเทศไทยแล้วยังถือว่า การรับรู้การทุจริตยังอยู่ในเกณฑ์สอบตกประเทศไทยยังต้องต่อสู้กับปัญหานี้ต่อไป

 

ตั้งเป้าปี64คะแนนแตะ50%

 

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กล่าวว่า แม้อันดับของไทยจะดีขึ้น แต่เรามี เป้าหมายว่าในปี 2564 จะต้องได้คะแนนถึง 50% แม้จะเป็นความท้าทาย แต่ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ว่าจะช่วยได้อย่างไรบ้าง และหากไม่ถึง 50% ในปี 2564 ก็จะต้องมาดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง

 

ดังนั้น คะแนนใน ปี 2560 จึงยังถือว่า ไม่ตรงตามเป้าหมาย โดยจากนี้ ป.ป.ช. จะมีอนุกรรมการ เพื่อวิเคราะห์ที่มาของ แต่ละคะแนนที่ลดลง 3 ดัชนี ประกอบด้วย ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการจัดการของรัฐบาล เพื่อดูว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง เพราะการยกระดับคะแนน CPI ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw